วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คู่มือการจัดสเปคคอมสำหรับเกมเมอร์

คำนำ
การเลือกซื้อคอมแบบไหน รุ่นไหนดียังไง หรือไม่ดียังไง ก็ยังคงเป็นคำถามยอดฮิต และดูเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้คลุกคลีในวงการคอมมากนัก ปัจจุบันสื่อแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือก็มีบทบาทมากขึ้น แต่สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุคก็ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม เนื่องจากทำงานได้หลากหลายทั้งทำงานเอกสารปกติไปถึงงานที่มีความซับซ้อน หรือบางคนอาจจะซื้อมาเพื่อความบันเทิง เช่น ดูหนังหรือเล่นเกม  




หมวดของ CPU
ซีพียูคือหัวใจของคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากการประมวลผลหลักจะเกิดขึ้นที่ส่วนนี้ ซีพียูมีหลากหลายความเร็วและหลากหลายราคา โดยซีพียูปัจจุบันมีสองประเภทที่ทำการแข่งขันมาโดยตลอดคือ AMD             และ Intel
โดยปัจจุบัน AMD มีการแบ่งซีพียูของตัวเองออกดังนี้
Sempron - ตระกูลน้องเล็กที่สุด เน้นสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกและเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1
Athlon - ตระกูลระดับกลาง ใช้งานกับเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1 เช่นเดียวกัน
FX - เป็นตระกูลหลักของซีพียูแบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของ AMD เน้นการทำงานหรือเล่นเกมที่ต้องใช้ประสิทธิภาพสูง
A6, A8, A10 - เป็น APU (Accelerated Processing Unit) ซึ่งถือว่าเป็นซีพียูอีกแบบที่มีการรวมหน่วยประมวลผลกราฟิก (การ์ดจอ) ไว้ในตัวชิปด้วยและเป็นสถาปัตย์แบบใหม่จากทาง AMD และระยะหลังทาง AMD เหมือนจะหันมาทำ APU มากขึ้น ในเรื่องประสิทธิภาพแล้วถือว่ายังเป็นรองตระกูล FX แต่ข้อดีคือประสิทธิภาพด้านการเล่นเกมและกราฟิกที่คุ้มค่าต่อราคา (APU ตระกูล A10 ซึ่งเป็นรุ่นระดับบนสุดถือว่าเล่นเกมได้ไม่เลว เหมาะกับคนที่อยากเล่นเกมได้สักระดับหนึ่ง แต่ไม่อยากลงทุนซื้อการ์ดจอแยก เพราะการ์ดจอออนบอร์ดที่ติดมากับ APU นั้นถือว่ามีความเร็วในระดับที่ดีเลย
แบบ Intel นั้นจะมีตระกูลหลักก็คือ Core i3, i5, i7 ซึ่งเป็นการเรียงประสิทธิภาพจากรุ่นระดับล่าง กลาง และสูงเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีซีพียูในชื่อ Pentium อยู่บ้างซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเล็กที่สุด หากนำมาเพื่อเล่นเกม อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อซีพียูในราคาที่สูง Core i5 ก็เพียงพอแล้ว

หมวดของ MAINBOARD
สำหรับเมนบอร์ดนั้นมีตัวเลือกให้มากมาย หลากหลายกว่า CPU เมนบอร์ดเป็นเหมือนแผงวงจรหลักที่อุปกรณ์ทั้งหมดจะเสียบลงไป ฉะนั้นอันดับแรกคือต้องเลือก Socket ให้ตรงกับซีพียูที่ซื้อหรือเลือกไว้ เช่นหากซื้อซีพียูแบบ LGA 1150 ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่เป็นSocket LGA 1150 เป็นต้น เพื่อที่จะใส่ด้วยกันได้ ส่วนเรื่องรุ่นไหนรองรับซีพียูรุ่นไหนได้บ้างหรือไม่ ปัจจุบันไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก (เลือกให้ตรง socket ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะสามารถใช้งานกับซีพียูที่ซื้อมาได้ แต่ก็ควรเช็คเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ) ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องคุณสมบัติที่เมนบอร์ดมาให้ได้แก่ พอร์ตสำหรับเสียบการ์ดจอ (PCI-E) หรือพอร์ตแบบ PCI ปกติว่ามีกี่พอร์ต นอกจากนี้จะยังมีเรื่องของสล็อตแรม ปัจจุบันส่วนใหญ่มีให้ ช่องสำหรับเมนบอร์ดทั่ว ไปและ ช่องสำหรับเมนบอร์ดแพลทฟอร์มเล็ก นอกจากนี้เมนบอร์ดบางตัวอาจติดลูกเล่นอย่างสามารถรับสัญญาณ Wi-Fi หรือส่งBluetooth ได้ก็มีแต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย



หมวดของ RAM
ตอนนี้แรมแบบ DDR4 จะเริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างแล้วในวงการคอมพิวเตอร์ระดับบน ๆ แต่ปัจจุบันราคายังถือว่าแพงมากและหาคนที่จะซื้อมาใช้งานนั้นน้อยอยู่ในตอนนี้ ฉะนั้นตอนนี้แรมแบบ DDR3 ยังเป็นพระเอกไปได้อีกอย่างน้อยก็สักสองหรือสามปีจนกว่าDDR4 ราคาจะถูกลงจนคนทั่วไปสามารถซื้อกันได้ สำหรับการเลือกแรมนั้นจะมีสองส่วนที่ควรพิจารณา ได้แก่บัสหรือความเร็วของแรม จะมีตั้งแต่ 1600, 1866 หรือ 2400 MHz สำหรับ DDR3 ซึ่งบัสที่สูงขึ้นก็แลกมาด้วยราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งแรมที่มีค่าMHz สูง ๆ ก็เหมาะกับการใช้งานงานที่ต้องการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากระหว่างแรมเช่นงานตัดต่อวิดีโอ งานด้านกราฟิก แต่หากจะว่าจริง ๆ ในการใช้งานปกตินั้นไม่เห็นผลมากนัก ฉะนั้นเลือกเอาตามที่ชอบและเมนบอร์ดของตัวเองรองรับก็เพียงพอแล้ว
อีกค่าหนึ่งที่น่าสนใจคือ CAS Latency (CL) ที่หากเราดูสเปคแรมดี ๆ จะเห็นตัวเลขเป็นชุด ๆ เช่น 9-9-9-24 ชุดเลขนี้สรุปได้ว่า ยิ่งต่ำยิ่งดี แรมที่มีค่า MHz สูง ๆ มีแนวโน้มที่ค่าCL จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังยากที่จะทำค่าแรม CL ต่ำให้ได้ในความเร็วที่สูง ๆ ฉะนั้นปกติคือควรเลือกแบบต่ำ ๆ เช่น ขึ้นต้นไว้ก็จะดีกว่า 10 หรือ 11
ยี่ห้อของแรมนั้นจะว่ากันจริง ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยปัจจุบันยี่ห้อที่เราพบเห็นกันเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น Kingston ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นซีรี่ส์ HyperXทั้งหมดแล้ว และมีหลายความเร็วหลายขนาดให้เลือก ยี่ห้ออื่น ๆ ก็ได้แก่ G.Skill, Team Group, ADATA, Corsair เป็นต้น ยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าไว้ใจได้และมีความแตกต่างกันไม่มากนักหากนำมาใช้งานปกติ เว้นแต่บางซีรี่ส์ที่เน้นออกแบบมาเพื่อการโอเวอร์คล็อค (overclock)
หากเป็นไปได้ควรซื้อแรมแบบขายมาเป็นคู่ เช่น 4 GB สองแท่งในกล่องเดียว (4 GB x 2 = 8 GB) หรือ 8 GB สองแท่งในกล่องเดียว (8 GB x 2 = 16 GB) เพราะแรมนั้นหากต้องการใช้งานแบบ Dual Channel แล้วต้องใส่เป็นคู่พร้อมกัน และแรมที่ขายคู่กันเช่นนี้มีการทดสอบมาแล้วว่าใช้งานร่วมกันจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน



หมวดของ HARD DISK
สื่อเก็บข้อมูลหลักในคอมพิวเตอร์ของเรา ปัจจุบันมีสองแบบคือ HDD (Hard Disk Drive) ซึ่งเป็นแบบจานหมุนใช้หัวอ่าน แบบที่เรารู้จักกันดี และล่าสุดที่กำลังนิยมใช้กันคือ SSD (Solid State Drive) ที่เก็บข้อมูลลงชิปหน่วยความจำ
HDD ปัจจุบันครองตลาดอยู่สองยี่ห้อคือ Seagate และ Western Digital (WD) ซึ่งยี่ห้อSeagate ไม่ได้มีการซอยรุ่นสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านมากมายนัก (ส่วนใหญ่เป็นBaracuda ทั้งสิ้น) แต่อีกยี่ห้อคือ Western Digital มีการแบ่งรุ่นออกเป็นสี ๆ ได้แก่รุ่นGreen, Blue, Black และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเพิ่มมาอีกให้ได้งงกันเพิ่มคือ Red, Purple
ผู้ใช้งานทั่วไปจะใช้งานกันส่วนใหญ่แค่สามสีแรกคือ Green, Blue, Black แต่สำหรับเกมเมอร์
จะแนะนำเป็น Black ซึ่งเป็นรุ่นที่เน้นความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล และแน่นอนว่ากินไฟมากที่สุดในสามสีนี้และเหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลที่คุณคาดหวังเรื่องความเร็ว เช่นเก็บเกม หรือไฟล์วิดีโอสำหรับใช้ในงานตัดต่อ เป็นต้น
ส่วนอีกสองสีคือ Red, Purple เป็นรุ่นสำหรับใช้งานบนเครื่องเก็บข้อมูลเช่น NAS หรือเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดหรือทีวี เป็นต้น
ส่วนฮาร์ดดิสก์อีกแบบคือ SSD (Solid State Drive) เป็นการเก็บข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งจะเก็บลงชิปหน่วยความจำแทนที่จะลงบนจานแผ่นแม่เหล็กแบบปกติ ข้อดีที่สุดของSSD คือความเร็วที่สูงมากรวมถึงมี Access Time ที่ต่ำ ทำงานกับไฟล์จำนวนมากทั้งการเขียนและอ่านได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาต่อ GB ที่แพงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบเดิม ๆ มาก
SSD ปัจจุบันราคาไม่ได้แพงมากแล้ว สามารถหาซื้อความจุขนาด 120 GB มาใช้งานกันได้ในราคาเพียงแค่ไม่ถึงสี่พันบาท เหมาะมากที่จะใช้งานกับเพื่อลงเป็นไดรฟ์เพื่อใช้งานหลักอย่างไดรฟ์ C: (ซึ่งมีระบบปฏิบัติการอยู่) SSD จะทำให้เครื่องคุณบูทเข้าสู่หน้าจอวินโดวส์เพื่อใช้งานได้อย่างรวดเร็วแบบชนิดที่ฮาร์ดดิสก์ปกติไม่สามารถทำได้
 ยี่ห้อที่นิยมกันมากสำหรับผู้ใช้งานระดับบน ๆ คือ Samsung, Intel ส่วนที่เหลือจะเป็นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเช่น Plextor, Crucial, Lite-On เป็นต้น (ยี่ห้อเหล่านี้ก็มีรุ่นบน ๆ เช่นเดียวกันแต่ไม่ได้นิยมเท่ากับสองยี่ห้อข้างต้น)






หมวดของ DISPLAY CARD
ปัจจุบันมียี่ห้อที่ครองตลาดเพียง ยี่ห้อคือ AMD และ Nvidia ผ่านซีรี่ส์อย่าง Radeon, GeForce การ์ดจอมีการออกรุ่นใหม่ทุกปีหรือปีครึ่ง ประสิทธิภาพก็แยกออกไปตามราคาที่จ่ายไหวตั้งแต่ตัวละสามพันถึงสามหมื่น
การ์ดจอในระดับบนของ AMD และ Nvidia ในขณะนี้ได้แก่
- Geforce GTX 980, 970
- AMD Radeon R9 290X, 280X
- Update ล่าสุดปี 2559 คือ AMD Radeon R9 Fury และ Nvidia Geforce 980Ti
ระดับกลาง
- GeForce GTX 960, AMD Radeon R9 270X
และระดับล่างคือ GTX 750, R7 250 ลงไป
จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของแต่ละระดับนั้นจะไล่เลขจากต่ำไปหาสูงทั้งสองค่าย โดยการ์ดระดับล่าง ๆ ก็จะเน้นการทำงานแบบเบา ๆ หรือเล่นเกมที่ไม่ได้กินสเปคมากมายนักเช่นเกมออนไลน์ ส่วนการ์ดระดับกลางถึงสูงนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูง สามารถปรับกราฟิกได้สวยงามมากกว่าและเหมาะกับการทำงานที่ใช้การประมวลผลจาก gpu มาก ๆ เช่นงานตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล (มีซีรี่ส์การ์ดอย่าง Quadro, Firepro ซึ่งออกแบบมาเพื่องานด้านนี้โดยเฉพาะด้วย)
แน่นอนว่าหากซีพียูที่คุณใช้หรือเลือกนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ จะสามารถขับพลังของการ์ดจอออกมาได้เต็มที่มากกว่าการเลือกใช้ซีพียูที่ประสิทธิภาพต่ำกว่าปกติ การจัดสเปคไม่สมดุลย์นั้นหากคุณนำไปเล่นเกมอาจพบกับอาการสะดุดแบบไร้สาเหตุ หรืออาจจะได้เฟรมเรตที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่การ์ดตัวนั้นจะได้รับ
การ์ดจอระดับกลางถึงล่างก็ยังถือว่าเล่นเกมได้ค่อนข้างดีและคาดเดาผลลัพธ์ได้ดีกว่าการใช้การ์ดจอราคาแพง จะอัพเกรดเครื่องพีซีเพื่อมาเล่นเกมจะมองแต่การ์ดจอเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากส่วนประกอบที่เหลือมันไปด้วยกันลำบากก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน





หมวดของ POWER SUPPLY
คอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องจะใช้งานได้ยาวนานและมั่นใจ คงข้ามตัวนี้ไปไม่ได้ ปัจจุบัน PSUจะมีสองแบบคือถอดสายได้ (Modular) และถอดสายไม่ได้ (Non Modular) แบบถอดสายได้ความได้เปรียบที่สุดคือเสียบเฉพาะสายที่ใช้งาน ทำให้ภายในคอมพิวเตอร์ของคุณเป็นระเบียบมากกว่าเนื่องจากจัดสายได้ง่ายนั่นเอง มันไม่ง่ายเลยที่จะจัดสายเยอะ ๆ ภายในเคสตัวเล็กนิดเดียว
ยี่ห้อที่เชื่อมั่นใจได้ซึ่งขายในบ้านเราก็ได้แก่ Corsair, Enermax, Silverstone, Seasonicยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าเป็นยี่ห้อที่ไว้ใจได้และทำรุ่นตั้งแต่แบบถอดสายไม่ได้ จนไปถึงแบบถอดสายได้ทุกเส้น (Full Modular)
ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ นอกจากนี้ควรเลือกแบบวัตต์แท้ไว้ก่อนจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าให้แนะนำว่าควรใช้ยี่ห้อด้านบนดีกว่า ของแบบนี้พังไปทีนึงงานอาจจะเข้ากันได้ง่าย ๆ เพราะบางครั้งมันไม่ได้พังแค่ตัวเดียว แต่ไฟจะกระชากเอาชีวิตอุปกรณ์อื่น ๆ ของคุณไปด้วย เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือการ์ดจอ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจ่ายไฟแบบ Single Rail ซึ่งเหมาะกับการใช้งานแบบใช้ไฟเยอะ ๆ เช่นต่อการ์ดจอหลายตัวพร้อมกันในรูปแบบ SLI หรือ Crossfire เป็นไปได้ก็ควรเลือกแบบ Single Rail (ซึงรุ่นกลางถึงบน ปกติมักจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว)
ยังมีตัวกำกับอีกตัวคือพวก 80 Plus Bronze, Gold, Platinum, Titanium พวกนี้เป็นมาตรฐานบ่งบอกว่าตัวจ่ายไฟนั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน เช่น 80 Plus Bronze การันตีว่าจ่ายไฟได้ในประสิทธิภาพ 80% ส่วน Titanium นั้นประสิทธิภาพสูงสุดถึง 96% แต่ว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันมากนักระหว่าง 80 Plus Bronze ไปจนถึง Titanium ในเรื่องของค่าไฟที่คุณใช้งานจริง  เพราะ 10 หรือ 15% ที่ว่านี้คือการใช้งานแบบต้องมีโหลดพอสมควรคือ 50-100% แน่นอนว่าหากคุณใช้ตัวจ่ายไฟที่มีมาตรฐาน 80 Plus อาจจะช่วยลดค่าไฟของคุณได้บ้างหากเทียบกับตัวจ่ายไฟแบบ no name แต่ก็ไม่ได้คุ้มค่าอะไรมากที่จะต้องไปเล่นถึงระดับ Platinum หรือ Titanium
ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Watt (W) หรือกำลังจ่ายไฟนั่นเอง เรื่องนี้หากจะลงอย่างละเอียดต้องว่ากันยาวพอสมควร เนื่องจากต้องนำชิ้นส่วนทุกชิ้นมาคำนวณกำลังไฟที่เหมาะสม แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้วจากประสบการณ์ส่วนตัว ยากมากที่จะใช้งานไฟถึง 500Wในการใช้งานจริงแบบการ์ดจอตัวเดียว (และเป็นการ์ดระดับกลางค่อนไปทางสูงด้วย) ส่วนที่กินไฟมากที่สุดในคอมพิวเตอร์คือการ์ดจอ โดยรุ่นบนสุดอาจกินไฟได้สูงสุดถึงตัวละ 250W หากต่อกันหลายตัวจำเป็นต้องใช้ตัวจ่ายไฟที่จ่ายได้มากกว่า 1000W ขึ้นไป
แต่ส่วนใหญ่แล้วเลือกใช้สัก 500W หรือ 600W นี่ก็เพียงพอ





หมวดของ MONITOR
จอนั้นปัจจุบันมีหลายแบบโดยแยกตามคุูณภาพของวัสดุภายนอก ภายใน และการเชื่อมต่อ โดยจอมอนิเตอร์นั้นปัจจุบันถ้าให้แนะนำคือควรจะใช้งานสัก 20 นิ้วเป็นอย่างต่ำ และความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) เพื่อที่จะรองรับการดูหนังฟังเพลงในยุคนี้แบบเต็มที่







หมวดของ CASE
เคสคอมพิวเตอร์ก็คือตัวถังมีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างมีความเรียบร้อย เป็นที่ รวมถึงจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ หลักการเลือกเคสคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนัก นอกจากหน้าตาและจำนวนช่องที่มีให้แล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาคือ Form Factor ที่ควรเลือกให้เข้ากับเมนบอร์ด เช่นหากเมนบอร์ดของคุณเป็นแบบ ATX (ซึ่งเป็นเมนบอร์ดที่ใหญ่ที่สุด) ก็ควรเลือกเคสที่รองรับเมนบอร์ดชนิดนี้ด้วย โดยหากคุณเลือกเคสที่รองรับแบบ ATX แล้วจะสามารถใส่กับบอร์ดที่เล็กกว่านี้ได้เช่นเดียวกัน (mATX)แต่ข้อเสียของเคสที่รองรับ ATX คือจะมีรูปร่างที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเคสที่รองรับสูงสุดแค่mATX ซึ่งหลายคนจะชอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ยังมีแพลทฟอร์มที่มีขนาดเล็กมากคือ ITX ซึ่งเหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่นเอาไว้ใช้งานเป็น Home Theater PC (HTPC) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เคสแบบ ITX และเมนบอร์ดแบบ ITX ด้วยเช่นเดียวกัน
กลับมาดูที่แพลทฟอร์ม ATX หากเรียงตามความสูงของเคสจะแบ่งได้เป็น Full Tower, Mid Tower, Mini Tower โดย Full Tower นั้นถือว่าเป็นเคสที่มีความสูงมากที่สุดโดยอาจสูงได้มากกว่า 60CM พร้อมมีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ด้านหน้ามากมาย เหมาะสำหรับการใช้งานเป็น Server เพื่อวางไว้บนพื้น เคสทั่วไปที่เราใช้กันตามบ้านส่วนใหญ่จะเป็น Mid Tower ที่มีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ประมาณสี่ถึงห้าช่อง หรือ Mini Tower ที่มีขนาดเล็กที่สุด
ส่วนของราคานั้นมีตั้งแต่ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ไปถึงหลายหมื่นบาทก็มี โดยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ยี่ห้อ รายละเอียดของงาน รุ่น ลูกเล่นพิเศษ เช่น ฝาข้างใส โดยเคสที่เป็นเหล็กนั้นจะเป็นเคสที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากและไม่สะดวกแก่การเคลื่อนย้าย แต่ก็มีข้อดีตรงราคาไม่แพง ส่วนตัวถังแบบอลูมิเนียมนั้นจะมีราคาสูงกว่ามากในขนาดเดียวกัน แต่มีน้ำหนักเบาและไม่ขึ้นสนิม
โดยเคสนั้นถือว่าเป็นหน้าตาของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่แทบทุกวัน ฉะนั้นหลายคนอาจเลือกด้วยเรื่องของหน้าตาและลูกเล่นเป็นหลัก ซึ่งหากคุณเน้นการแต่งคอมเพื่อความสวยงามแล้วละก็จะมีของแต่งจำนวนมากเข้ามาให้คุณได้เสียเงินกัน แต่หากใช้งานปกติแล้วเคสในราคาไม่เกิน 2,000 บาทก็ถือว่าเหมาะสม และสวยงามพอประมาณแล้ว ยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาดก็ได้แก่ Corsair, Cooler Master, Thermaltake, NZXT, Silverstone, Zalman เป็นต้น




ตัวอย่างสเปคคอมสำหรับเกมเมอร์ตามงบต่างๆ
ไม่เกิน 20,000 บาท
INTEL
CPU
Pentium G3258 3.2 GHz 2950 บาท
Mainboard
ASUS H81M-D 2050 บาท
RAM
DDR3 4 GB 1400 บาท
HDD
Western Digital Blue 1TB 1990 บาท
Power Supply
Corsair VS 450 1200 บาท
DVD Drive
600 บาท
Case
1500 บาท
Monitor + Keyboard + Mouse
4000 บาท (โดยประมาณ)
-          รวม 15,690 บาท


ADM
CPU
AMD A6 6400K 3.9 GHz 2150 บาท
Mainboard
Asrock FM2A58M-HD+ 1650 บาท
RAM
DDR3 4GB 1400 บาท
HDD
Western Digital Blue 1TB 1990 บาท
Power Supply
Corsair VS 450 1200 บาท
DVD Drive
DVD Drive 600 บาท
Case
1500 บาท
Monitor + Keyboard + Mouse
 4000 บาท (โดยประมาณ)

-          รวม 14,490 บาท
สองสเปคนี้ความสามารถไม่ได้ห่างอะไรกันมากมายนัก เนื่องจากเป็นสเปคที่เล่นเกมได้นิดหน่อย หากมองเพื่อนำมาเล่นเกมแล้วดูเหมือน AMD จะได้เปรียบกว่าพอสมควร

พรบ.คอมพิวเตอร์

พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. ๒๕๕๐
                       

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น



ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้





ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
                       

มาตรา ๕  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖  ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ




มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท



มาตรา ๑๒  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๓  ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

มาตรา ๑๕  ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔


มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

มาตรา ๑๗  ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร



หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
                       

มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙  การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘
(๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว



เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๐  ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้
ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๒  ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๓  พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๔  ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๒๕  ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

มาตรา ๒๖  ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๒๗  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา ๒๘  การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง

มาตรา ๓๐  ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตัวอย่าง พฤติกรรมการล่วงละเมิด พรบ.คอมพิวเตอร์


1: พฤติกรรม :     ใช้ user name/password ของผู้อื่น Log in เข้าสู่ระบบ
    ฐานความผิด :  มาตรา 5 ปรับไม่เกิน 10,000.- จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
    ข้อแนะนำ :    ไม่ใช้ user/password ของผู้อื่น และห้ามไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้        password ของตน

2. พฤติกรรม :     Forward email ที่มีข้อความ เนื้อหา หรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นเท็จ กระทบความมั่นคง 
หรือลามกก่อนาจาร
   ฐานความผิด :   มาตรา 14 ปรับไม่เกิน 100,000.- จำคุกไม่เกิน 5 ปี
   ข้อแนะนำ :     ไม่ forward email ที่ไม่เหมาะสม

3. พฤติกรรม :    โพสข้อความตามกระทู้ต่างๆ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเท็จ กระทบความมั่นคง หรือลามกอนาจาร
   ฐานความผิด :  มาตรา 14 ปรับไม่เกิน 100,000.- จำคุกไม่เกิน 5 ปี
   ข้อแนะนำ :     ใช้วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็น และคำนึงถึงผลที่จะตามมา

4. พฤติกรรม :    เผยแพร่ภาพตัดต่อให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสีย หรืออับอาย
    ฐานความผิด : มาตรา 16 ปรับไม่เกิน 60,000.- จำคุกไม่เกิน 3 ปี